รวมเข้าชม 2,895 , เข้าชมวันนี้ 43 

วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ พระศรีธรรมภาณี (วัลลพ โกวิโล), รศ. ดร. ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ มจร ได้มอบหมายพระมหาประยุทธ์ ภูริปญฺโญ ผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง นางสาวสกุลเพ็ญ น้อยใหญ่ รองผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง และบุคลากรส่วนหอสมุดกลาง ให้การต้อนรับนายภิพิธธนภณ คิดอ่าน เจ้าหน้าที่ห้องสมุด วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง และนางสาวจิรัชนากานต์ เพิ่มขึ้น อดีตเจ้าหน้าที่ห้องสมุด วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง ด้วยความอบอุ่น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลายประเด็น อาทิ

การอ่าน (Reading) คือ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับสื่อต่าง ๆ เช่น สิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภาพลายเส้น เพื่อบรรลุถึงความหมายของสื่อ

หนังสือ คือ เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียงหรือคำพูด ข้อความที่พิมพ์หรือเขียนเป็นต้นแล้วรวมเป็นเล่ม  การอ่านหนังสือ เป็นสิ่งฝึกฝน อบรมกันได้นับตั้งแต่หัดเขียน หัดอ่าน  ผู้อ่านได้สัมผัส เปิดหนังสือทีละหน้า รับรู้ ทำความเข้าใจคำ ความหมาย วลี ประโยค ขอบเขต และจุดหมายปลายทางของคำ  ผลที่เกิดขึ้นจากการอ่านคือ ความรู้ ความเข้าใจ และนำไปลงมือทดลองปฏิบัติจนสามารถทำได้ มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญ ตลอดถึงการสร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจ

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ก) (electronic book, e-book; eBook) คือ ตำรา สารคดี ประวัติศาสตร์ นวนิยาย สิ่งพิมพ์ที่จัดทำลงไว้ในระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์  ผู้อ่านสามารถเรียกอ่านได้จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  บางเรื่องสามารถคัดลอก พิมพ์ (print) สำหรับอ่านในภายหลัง หรือคัดลอกเก็บไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ของผู้อ่านเพื่อเรียกอ่านในภายหลังได้ด้วย  ผู้อ่านสามารถเก็บ พก อ่านอีบุ๊กผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต (tablet) ไอแพด (iPad) และมือถือ

หอสมุดรัฐสภา (Library of Congress) เป็นหอสมุดประจำรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีหนังสือและสื่ออื่น ๆ รวมกันกว่า ๑๗๑ ล้านรายการ (ค.ศ. ๒๐๐๒) ให้บริการการศึกษา การค้นคว้าข้อมูลแก่สมาชิกรัฐสภา คณะกรรมาธิการ บุคลากรของรัฐสภา ข้าราชการ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๐ ตั้งอยู่บริเวณแคพิทอลฮิลล์ (Capitol Hill) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington, D.C.)  ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ มีการจัดทำบัญชีรายชื่อทรัพยากรภายในหอสมุดรัฐสภาเสร็จสิ้นเป็นครั้งแรก  ในช่วงที่เอนส์เวิร์ท แรนด์ สปอฟเฟิร์ด (Ainsworth Ran Spofford) รับตำแหน่งบรรณารักษ์ ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๙๗ ได้เสนอกฎหมายลิขสิทธิ์ ค.ศ. ๑๘๗๐ (Copyright Law of 1870) ให้จัดตั้งสำนักงานลิขสิทธิ์ไว้ในหอสมุดรัฐสภา และให้หอสมุดรัฐสภามีอำนาจบริหารจัดการเรื่องลิขสิทธิ์  ประธานาธิบดียูลิสซิส ซิมป์สัน แกรนด์ (Ulysses Simpson Grant ค.ศ. ๑๘๖๙-๑๘๗๗) ได้ลงนามในรัฐบัญญัติมอบอำนาจให้หอสมุดรัฐสภากำกับดูแลการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ต่าง ๆ อาทิ หนังสือ จุลสาร แผนที่ ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ โน้ตเพลง ต้องมอบงานสร้างสรรค์ดังกล่าวจำนวน ๒ ชุดให้กับหอสมุดรัฐสภา ส่งผลให้จำนวนทรัพยากรของหอสมุดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและครอบคลุมหลากหลายสาขา  ในแต่ละวัน หอสมุดรัฐสภาได้รับหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และโสตทัศนวัสดุต่าง ๆ จำนวนมาก ผ่านทางข้อกำหนดเรื่องการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ การจัดซื้อ การบริจาคจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และการแลกเปลี่ยนกับห้องสมุดอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ  หอสมุดรัฐสภาคัดเลือกเก็บไว้ส่วนหนึ่งและส่งมอบส่วนที่เหลือให้แก่หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ห้องสมุดของรัฐ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร  จะเห็นได้ว่า ห้องสมุดมีระบบการจัดเก็บ รวบรวม รักษาหนังสือต่าง ๆ เพื่อใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ และเป็นที่สั่งสมอารยธรรมของมนุษย์อีกส่วนหนึ่งด้วย

ในนามผู้บริหารสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ ขออนุโมทนากุศลเจตนาของบรรณารักษ์ วิทยาสงฆ์นครลำปาง ที่มาเยี่ยมเยียน สนทนา สื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) และไมตรีจิตอย่างมีความคุ้นเคย มา ณ โอกาสนี้

 

แหล่งข้อมูล:

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. (ออนไลน์).

สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๕.

นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์. “Library of Congress : หอสมุดรัฐสภา”. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากล : อเมริกา เล่ม ๕ อักษร J-L ฉบับราชบัณฑิตยสภา. (๒๕๖๖): ๒๗๖-๒๘๐.

หอสมุดรัฐสภา. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://maps.app.goo.gl/TMU1wZoS1PZjqeTu7

 

ข่าวโดย : พระมหาประยุทธ์ ภูริปญฺโญ ผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง

Recommended Posts